ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ
ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการนำผ้ามาย้อมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ เป็นความรู้ภูมิปัญญาที่ถูกค้นพบ
ปฏิบัติและถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น การทำผ้ามัดย้อมใช้เอง เป็นความภาคภูมิใจของคนทำและคนที่จะสวมใส่ เพราะผลงานชิ้นดังกล่าวเป็นศิลปะหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน การคิด ประดิษฐ์ลายผ้า ขึ้นอยู่กับจินตนาการและการสังเกตของแต่ละคน ซึ่งการมัดแต่ละครั้งหรือแต่ละคน ลายผ้าที่ได้จะไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถปรับปรุง หรือออกแบบให้ใกล้เคียง หรือ คล้ายกันได้ ขึ้นอยู่กับการสังเกตและพัฒนาการของแต่ละคนด้วย ซึ่งการมัดลายแบบพื้นฐานอย่างง่ายมี ดังนี้
การพับแล้วมัด การห่อแล้วมัด การขยำแล้วมัด พับแล้วหนีบ ที่สำคัญสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น
ผ้าย้อมคราม ย้อมฝางแดง เป็นต้น
สีธรรมชาติได้จากต้นไม้ ได้แก่ ราก แก่น เปลือก ต้น ผล ดอก เมล็ด ใบ
เป็นต้น ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดให้โทนสีต่างกัน
ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของต้นไม้นั้นๆ
ซึ่งจะขอยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นบางส่วน ดังนี้
- สีแดง ได้จาก รากยอ แก่นฝาง เปลือกสมอ ครั่ง
- สีคราม ได้จาก ต้นคราม
- สีเหลือง
ได้จาก แก่นขนุน ต้นหม่อน ขมิ้น ดอกดาวเรือง
- สีตองอ่อน
ได้จาก เปลือกผลทับทิม ต้นคราม ใบหูกวาง เปลือกและผลสมอพิเภก
ใบส้มป่อยและผงขมิ้น ใบแค ใบสับปะรดอ่อน
- สีดำ ได้จาก ผลมะเกลือ ผลกระจาก ผลและเปลือกสมอ
- สีส้ม
ได้จาก เปลือกและรากยอ ดอกกรรณิการ์ (ส่วนที่เป็นหลอดสีส้ม)
- สีเหลืองอมส้ม ได้จาก ดอกคำฝอย
- สีม่วงอ่อน
ได้จาก ลูกหว้า
- สีชมพู
ได้จาก ต้นฝาง
- สีน้ำตาล
ได้จาก เปลือกไม้โกงกาง เปลือกผลมังคุด
- สีเขียว
ได้จาก เปลือกต้นมะริดไม้ ใบหูกวาง เปลือกสมอ
เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ดังนี้ 1. เตรียมวัตถุดิบให้สี เช่น ใบไม้ ดอกไม้ เปลือกไม้ กิ่ง ก้านใบ แก่นใบ ผลไม้ รากไม้ ที่ให้สีในโทนที่ต้องการมาจำนวนพอประมาณ ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับน้ำ หม้อที่ใช้ต้ม
และจำนวนผ้าที่ต้องการย้อมด้วย นำวัตถุดิบดังกล่าวมาหั่นเล็กๆ
ขนาดพอเหมาะกับภาชนะต้ม
2. เตาขนาดใหญ่
หรือก้อนเส้าเพื่อตั้งหม้อต้มน้ำ 3. ผ้าตามขนาดที่ต้องการขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้
4. หนังยาง เชือก ฟาง
หรือ เข็มกับด้วย เพื่อเอาไว้มัดลวดลาย
5. ปีบ
กะละมังหรือหม้อขนาดใหญ่เพื่อเอาไว้ต้มสีย้อมผ้าจาก ธรรมชาติ
6. ถุงผ้า
หรือ ตาข่าย สำหรับห่อวัตถุดิบที่ให้สีเพื่อป้องกันไม่ให้เศษไม้ไปติดกับผ้าที่เราจะย้อม 7. ไม้ไผ่ผ่าซีกแบนเรียบ ก้อนหิน หรือวัตถุขนาดต่างๆ
เพื่อเอาไว้ทำเป็นแม่แบบกดทับผ้าเพื่อให้เกิดลายตามจินตนาการ
8. เกลือ
เอาใส่ในหม้อต้มน้ำเพื่อให้สีติดทนนานขึ้น
ขั้นตอนการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ มีดังนี้
1. ต้มน้ำให้เดือดในภาชนะที่ใหญ่พอประมาณ (ขึ้นอยู่กับจำนวนผ้า
ที่จะย้อมด้วย) ใส่เกลือลงไปพร้อมกับน้ำเพื่อให้สีติดทนนานและสีสดขึ้น
2. นำวัตถุดิบให้สีที่เตรียมไว้แล้วใส่ในถุงผ้าหรือตาข่ายที่เตรียมไว้ แล้วนำเอาไปต้มกับน้ำที่เดือดเพื่อสกัดเอาสารที่มีอยู่ในนั้นออกมา 3. นำผ้าที่ผูกลายเสร็จลงไปในหม้อต้มสี
ให้กลับด้านผ้าหรือกวน ให้ตลอดเพื่อให้สีผ้าดูดสีสม่ำเสมอกันทั้งผืน ให้สังเกตสีที่ซึมเข้าไปในเนื้อผ้าตามความพอใจหรือเหมาะสมแล้วจึงนำออกมาวางให้เย็นก่อน (ประมาณ 30
นาที ขึ้นอยู่กับอุณหถูมิของน้ำ)
4. ล้างขยี้เบาๆ
ในน้ำตัวทำปฏิกิริยาเพื่อทำให้เกิดสีใหม่
เช่น น้ำสนิม น้ำสารส้ม
น้ำปูนใส น้ำด่างขี้เถ้า
(ในขณะที่แช่ผ้าในตัวทำปฏิกิริยาแต่ละชนิดให้สังเกตถึงความต่างและการเปลี่ยนแปลงสีของแต่ละชนิดไว้ด้วยเพราะแต่ละตัวจะให้สีแตกต่างกัน)
ถ้าพอใจแล้วให้แกะลายออกแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง หรือถ้ายังไม่พอใจในสีที่ปรากฏให้นำไปล้างน้ำ
สะอาดแล้วนำกลับไปย้อมกับตัวทำปฏิกิริยาชนิดอื่นๆ อีก แต่ข้อควรระวัง
คือในระหว่างที่นำผ้าเปลี่ยนตัวทำปฏิกิริยาให้ล้างน้ำเปล่าก่อน เพื่อไม่ให้ผสมกัน
หรือถ้าไม่พอใจอีกอาจนำไปต้มกับน้ำเปลือกไม้อีกครั้ง เพื่อย้อมใหม่ จนเป็นที่พอใจแล้วแก้ผ้าที่มัดไว้นำไปตากแดดให้แห้ง
ข้อดีของสีธรรมชาติ
1. ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค
2. น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตไม่เป็นอันตรายต่อ
สิ่งแวดล้อม
3. วัตถุดิบหาได้ง่ายในชุมชนไม่ต้องใช้สีเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศ
4. การย้อมสีธรรมชาติสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
เป็นความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นตามประสบการณ์ สามารถ ถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลัง
เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น
5. การย้อมสีธรรมชาติทำให้เห็นคุณค่าและรู้จักใช้
ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ
อ้างอิงจาก
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.ist.cmu.ac.th/cotton/naturalColor_AdvRestrict.php?subnav=3
www.ist.cmu.ac.th
การทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ จากบล็อก โอเคเนชั่น oknation.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น